ต้องปฏิเสธเป็นพัลวันกระแสข่าวจากข้อความ “Timeline เลือกตั้งท้องถิ่น” ที่ส่งต่อๆ กัน โดยระบุว่า ม.ค.63 ทำบัญชีรายชื่อ, ก.พ.63 จัดทำบัญชีแบ่งเขต, มี.ค.63 จัดสรรงบประมาณ, เม.ย.63 ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง, พ.ค.63 เสนอ set zero อบจ. กทม. พัทยา เทศบาล อบต. ตามลำดับ, มิ.ย.-ก.ค.63 ประกาศยุบสภาท้องถิ่นไล่ประกาศยุบสภาท้องถิ่นตามลำดับ และ ก.ค.63 เริ่มเลือกตั้งตามลำดับ
สำคัญตรงที่มีข้อความที่ส่งต่อๆกันโดยมีโลโก้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แปะแนบไปด้วย
กระทั่งสำนักงาน กกต.ต้องออกมายืนยันว่าเอกสารและข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ใช้บังคับนั้น กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร
แม้จะถูกระบุว่าเป็น “เฟกนิวส์” แต่ก็ค่อนข้างตรงกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างในหมู่ “นักเลือกตั้ง” ว่า ไม่น่าเกินเดือน มิ.ย.-ก.ค. คงจะได้เข้าคูหากาบัตรกันแล้ว ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น
โดยหมายตาว่าจะใช้สนาม “ผู้ว่า กทม.-นายกฯ เมืองพัทยา” ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษนำร่อง ก่อนจะปูพรมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ
ซึ่งสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะเมืองหลวงมหานครของประเทศ ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ
ส่องความเคลื่อนไหว จนถึงขณะนี้ มีที่เปิดตัวเพียง 3 รายเท่านั้น ทุกรายประกาศลงในนามอิสระทั้งหมด ตั้งแต่ “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่แม้ยังมีศักดิ์เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย แต่ก็ประกาศลงสมัครในนาม “อิสระ” ตั้งแต่ปลายปีกลาย
จนทำให้ต้นสังกัดอย่าง “ค่ายเพื่อไทย” เกิดความชุลมุนไม่น้อย ด้วยที่ผ่านมามั่นใจว่า “ชัชชาติ” จะลงสมัครนามพรรค จนทำให้ “ขาใหญ่บางคน” ออกอาการ “แค้นฝังหุ่น” กดปุ่มให้ “ภาค กทม.” ออกมติให้พรรคส่งผู้สมัครลงแข่งให้แตกหักกันไปเลย แต่ก็โดน “ผู้บริหารพรรค” เบรกหัวทิ่มไปตามๆ กัน
ขณะที่อีก 2 รายที่เปิดตัวไปแล้ว ก็มี “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. และ “เฮียเทน” อุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย และอดีตทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่ากันว่าทั้งคู่จะมาเป็น “ตัวสอดแทรก” สร้างสีสันได้ไม่น้อย
ที่แว่วว่ามาแน่ๆอีกราย “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มักทำตัวเป็นข่าวอย่าง “ผิดปกติ” โดยมีเสียงซุบซิบว่าได้ทุ่มทุนฟอร์มทีมงานด้านการประชาสัมพันธ์ไว้แล้ว ติดก็แต่ยังหาค่ายลงไม่ได้ เพราะที่ร่อน “เรซูเม่” เสนอตัวไปตามพรรคการเมือง ไร้สัญญาณตอบรับจากปลายทาง
น่าแปลกใจไม่น้อยว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.งวดนี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดมีความชัดเจนเลย
อันน่าจะสืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ กทม.เมื่อปีก่อน ที่ผลออกมาในอารมณ์ “วินาศสันตะโร” เกินความคาดหมาย ทั้งความพ่ายแพ้หมดรูปของเจ้าถิ่นอย่าง “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ จนดูกระมิดกระเมี้ยนในศึกชิงอาณาจักรเสาชิงช้างวดนี้
ขณะที่ “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” อย่าง “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ เจ้าของป๊อปปูลาร์โหวตใน กทม.กับ ส.ส. 10 ที่นั่ง ที่ได้มา ก็ดูจะ “สำเหนียกตัวเอง” ว่าคะแนนที่โกยมาเป็นกอบเป็นกำนั้น ไม่ใช่คะแนนของตัวเอง หากแต่เป็นคะแนนส้มหล่นจากผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบไป หรือจะพูดให้ถูกก็คือคะแนนของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
ส่วน “ค่ายเพื่อไทย” ก็ยังมีปัญหาภายในอย่างที่ว่าไปข้างต้น
ที่ขาดไม่ได้คงเป็น “ค่ายลุงตู่” พรรคพลังประชารัฐ ที่ครองแชมป์ ส.ส.กทม. มากที่สุด 12 ที่นั่ง แม้รู้ดีว่าเป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ในฐานะแกนนำรัฐบาลต้องลงสนามด้วย แต่ก็ติดที่ควานหาทั่วแผ่นดินแล้วก็ยังไม่มี “ตัวเลือกดีๆ” เข้าตา
ยิ่งมีชื่อ “ชัชชาติ” ที่ติดตลาดอยู่แล้วเป็นตัวยืน งานนี้คงไม่กล้าส่ง “ของปลอม” ลงไปชนให้เสียฟอร์ม
ภาระหนักตกอยู่กับ “คู่หูลูกกรอก” อย่าง “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ “เสี่ยบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่รับหน้าเสื่อเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ กทม. เช่นเดียวกับ “เฮียสน” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
ก็เป็นอีกคนที่เก๊กซิม พยายามไล่ทาบทาม “คนเด่น-คนดัง” อยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีเซเยสซักคน
พอหาตัวไม่ได้ ก็เริ่มมาเมียงมอง “คนใกล้ตัว” โดยมีกระแสข่าวว่า “เสี่ยตั้น-ณัฏฐพล” เตรียมเสนอชื่อ “มาดามอีฟ” ทยา ทีปสุวรรณ ภรรยาตัวเองลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. โดยอาจปรับแผนเป็นการลงสมัครในนามอิสระตามเทรนด์ที่นิยมกัน แต่พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุน
ชื่อของ “มาดามอีฟ-ทยา” ทายาทตระกูลศรีวิกรม์ ถือว่าไม่ใช่หน้าใหม่ทางการเมือง ก่อนหน้านี้สมัยยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงปี 2552 ชุด “หม่อมหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มาแล้ว
ขณะเดียวกัน “เสี่ยบี-พุทธิพงษ์” ก็พยายามผลักดันให้ “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. น้องเล็กของ “แก๊งลูกกรอก” ลงสมัครผู้ว่าฯกทม. หลังเข้าพรรคพลังประชารัฐมาด้วยกัน แต่ “เสี่ยจั้ม” เลือกที่จะไม่ลงสมัคร ส.ส. และขุนตัวเองหวังเล่นใหญ่ในสนามนครบาล
พลันที่มีการโยนชื่อ “ทยา-สกลธี” ออกมาตามหน้าสื่อ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งภายใน-ภายนอกพรรค โดยมองกันว่าชื่อชั้น “มาดามอีฟ-เสี่ยจั้ม” ยังไม่ถึงขั้น ยิ่งเปรียบมวยกับ “ชัชชาติ” ด้วยแล้วก็ไปกันใหญ่
ที่น่าเป็นห่วงก็ทั้ง “มาดามอีฟ-เสี่ยจั้ม” ต่างเป็นคนสนิทของ “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส.มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมชัทดาวน์ กทม.มาก่อน ด้วยภาพลักษณ์ “ม็อบนกหวีด” ที่อาจจะมี “คนรัก” เยอะอยู่ แต่ก็ “คนชัง” มากเช่นกัน
ครั้ง “สุเทพ” เคยงัดมุก “เผาบ้านเผาเมือง” ขึ้นมาปราศรัย จนแต้มพรรคเพื่อไทยที่กระฉูดในตอนนั้นหล่นตุ๊บชั่วข้ามคืน ส่ง “หม่อมหมู” ครองอาณาจักรเสาชิงช้าในสมัยที่ 2 ได้สำเร็จมาแล้ว
หากใช้ “แกนนำ กปปส.” ลงสนาม ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกย้อนศร
นอกจากนี้ภายใน “พลังประชารัฐ” เองก็ไม่ได้ให้เครดิตกับ “เสี่ยตั้น” หรือกระทั่ง “เสี่ยบี” ที่เคลมผลงานความสำเร็จในสนาม กทม.กับ 12 ที่นั่ง ส.ส.เท่าใดนัก เพราะต่างรู้ดีว่ามี “ระบบจัดตั้ง” ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมากกว่าจนล่าสุด ส.ส.กทม. อย่างน้อย 6 คนก็เริ่มตีตัวออกห่าง ปรากฏภาพ กรณิศ งามสุคนรัตนา - ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ - ภาดา วรกานนท์ - ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ - ศิริพงษ์ รัสมี - สิระ เจนจาคะ โผล่ไปร่วมแสดงพลัง “กลุ่มสามมิตร” ที่โรงแรมสุโกศล เมื่อไม่กี่วันก่อน
ด้วยชื่อชั้น-ภาพลักษณ์ที่ยังไม่ถึง สุดท้ายถ้าหวยออกที่ “ทยา-สกลธี” จริง ก็เตรียมใจ “แพ้แต่ในมุ้ง” ได้เลย
แต่หาก “ระบบจัดตั้ง” ทำได้เข้าเป้าเหมือนเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ก็อาจจะพอมีลุ้น.
ที่มาข้อมูล ผู้จัดการ
0 ความคิดเห็น