(8 ก.ค.63) เวลา 10.00 น. นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2563 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร2 ดินแดง
ในที่ประชุม นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษและควบคุมฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการวิสามัญฯ ประกอบด้วย การปรับปรุง ทบทวน แผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร แนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และแผนการประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง pm2.5 โดยคณะกรรมการวิสามัญฯมีข้อเสนอแนะหลายประการ อาทิ กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm2.5 ในระดับชาติให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน กรุงเทพมหานครควรมีแผนและมาตรการควบคุมการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวควรเป็นแผนหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีพื้นที่สีเขียวแนวตั้งตามอาคารสูง โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ลดปริมาณการจัดซื้อยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซล ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ห้ามรถยนต์วิ่งเข้าพื้นที่ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะระบบราง รวมทั้งส่งเสริมการสัญจรทางน้ำ เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางให้มากขึ้นเพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด นอกจากนี้ควรส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเหลื่อมเวลาการทำงานในช่วงสภาวะค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายชยาวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่า การแก้ปัญหาควรแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหา และอันตรายที่จะได้รับ รวมทั้งควรติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในสถานที่ต่างๆและเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งมีการรายงานค่าปริมาณฝุ่นแบบ Real Time อย่างต่อเนื่อง ระยะกลาง กรุงเทพมหานครควรพิจารณาเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และในระยะยาว
ควรสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหา ในส่วนของกรุงเทพมหานครและภาครัฐ ควรกำหนดนโยบายให้เข้มข้นมากขึ้น มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ คิดค้นพลังงานทดแทน และสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม
นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ กล่าวว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว การกำหนดใช้รถยนต์ส่วนราชการของกทม. ดับเครื่องเมื่อจอดรอ เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองพลังงาน การกวดขันตรวจสอบสถานที่ก่อสร้าง ทั้งนี้ต้องดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
นายอภิรัตน์ ศิวพรพิทักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครถือว่ามีบทบาทสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญที่เกิดปัญหา ทั้งนี้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนเดินทางน้อยลง เห็นได้ชัดว่าปริมาณฝุ่นละอองในท้องถนนลดลงด้วย หลังจากสถานการณ์คลี่คลายในขณะนี้ ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำให้เริ่มมีปริมาณฝุ่น แสดงให้เห็นว่าการเผาไหม้ของเครื่องยนต์เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดปัญหาฝุ่นละออง อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ถือว่ามีประโยชน์มาก หากผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำไปใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในอนาคต
0 ความคิดเห็น