"จุรินทร์" KICK OFF จ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกร 1.8 ล้านคน พร้อมกันทั่วประเทศวันนี้

(11 ธ.ค 63 ) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี " KICK OFF จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา" ใน โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง (ประกันยางพารา) ระยะที่ 2 ที่ว่าการอำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา ให้กับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดพังงา โดยมี นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และข้าราชการ เข้าร่วมในพิธี

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,834,087 ราย โดยแบ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ กยท. จำนวน 1,142,294 ราย เกษตรกรชาวสวนยางที่แจ้งพื้นที่ปลูกกับ กยท. จำนวน 419,060 ราย และคนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวน 272,733 ราย การจ่ายเงินส่วนต่างจะแบ่งออกเป็น 6 งวด เดือนละงวด ต.ค.- มีนาคม โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 กยท. ได้ประสานกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง โดยงวดแรกจะจ่ายพร้อมกันในวันที่ 11 ธ.ค. 2563 นี้ เป็นการจ่ายตรงผ่านบัญชี ธ.ก.ส. เจ้าของสวนยางและคนกรีดยางที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 1 ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือขึ้นทะเบียนก่อน 12 ส.ค. 2562 จะได้รับเงินงวดแรกในวันที่ 11 ธ.ค.


ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2562 แต่ไม่เกิน 15 พ.ค. 2563 กยท. ได้ตรวจสอบและส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับ ธ.ก.ส. แล้ว เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในรอบถัดไป โดยเงื่อนไข ต้องเป็นสวนยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ หากเจ้าของสวนกรีดเองจะได้รับส่วนต่างประกันรายได้ทั้งจำนวน กรณีจ้างกรีดยาง เจ้าของสวนยางจะได้ 60% และคนกรีดจะได้ 40% ของรายได้ทั้งหมด

“ วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางมีความผันผวน โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทุกกลุ่ม กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 10,042 ล้านบาท โดยในเดือนธันวาคม จะจ่ายพร้อมกันสองงวด คืองวดเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร “นาย ณกรณ์ กล่าว


ด้าน นายวิรัตน์ หนูแป้น อายุ 59 ปี เกษตรกรชาวสวนยางพารา ต.บางวัน อ.คุระบุรี จ.พังงา กล่าวว่า เงินส่วนต่างจากการประกันราคายางที่ได้จากรัฐบาล ตนก็จะนำไปซื้อปุ๋ย ซื้อยาฉีดวัชพืช ก็ถือว่าเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายได้บางส่วน


ทั้งนี้ นายวิรัตน์ และครอบครัวทำสวนยางพารา มา 30 กว่าปี จำนวน 50 ไร่ เป็นการทำยางก้อนถ้วย และเมื่อ ปี 2550 ก็เริ่มทำสวนผลไม้ ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียนและสะตอ ควบคู่ไปกับการทำสวนยางพารา


" ปลูกยางอย่างเดียวไม่พอกิน ต้องทำสวนผลไม้ ผสมผสาน ในช่วงที่กรีดยางไม่ได้ ก็เป็นช่วงที่ ผลไม้ เงาะ มังคุด ทุเรียนออกพอดี ตนก็ขายผลไม้ ขายสะตอ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ถ้าไม่มีสวนผลไม้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะราคายางพาราตกต่ำมาหลายปี แต่ช่วงนี้ราคายางดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ดีมาก ถ้าตนไม่กรีดยางพาราเอง เงินก็คงไม่เหลือ " นายวิรัตน์ กล่าว


ขณะที่ พัชลี ศรีเพชร เกษตรกรชาวสวนยางพารา ต.บางทอง อ.ท้ายเหมือง จ. พังงา วัย 47 ปี กล่าวว่า ในหมู่บ้านบางทองเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพาราและปาล์ม สำหรับตนทำสวนยางพาราจำนวน 10 ไร่ และทำน้ำยางก้อนถ้วย ซึ่งตอนนี้ราคาขายอยู่ประมาณ 19 บาท ตนได้ รับเงินส่วนต่างมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มาก คงจะนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน


ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 จะใช้กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.– 23 พ.ย. 2563 โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 62.62 บาท/กก. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 52.86 บาท/กก. ชดเชย 4.14 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาท/กก. ชดเชย 3.19 บาท/กก. โดยประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันราคา 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันราคา 23 บาท/กิโลกรัม โดยจะมีการประกาศราคากลางอ้างอิงทุกเดือน

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น